ลิ้นจี่ เป็นชื่อของผลไม้ประเภทผลเดี่ยวซึ่งมีลักษณะเปลือกสีแดงชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ SAPINDACEAE (ซึ่งก็คือวงศ์เดียวกับเงาะและลำไยนั้นเอง) ลิ้นจี่นั้นเป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อยให้ผลผลิตคุ้มค่ากับการลงทุนจึงถือว่าเป็นผลไม้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยที่สามารถนำผลผลิตที่ได้มาจำหน่ายในรูปของผลไม้สดและผลไม้แปรรูป ปัจจุบันนี้ลิ้นจี่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลายขึ้นเรื่อยๆจากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว ลิ้นจี่ถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์จีนในสมัยราชวงศ์ถัง โดยเป็นผลไม้โปรดของหยางกุ้ยเฟย พระสนมของจักรพรรดิถังเสวียนจง ทรงบัญชาให้ทหารม้านำลิ้นจี่จากแหล่งปลูกทางตอนใต้ของจีน เดินทางข้ามวันข้ามคืนมาถวายที่ปักกิ่ง
ลิ้นจี่มีต้นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้ อีกทั้งปลูกได้ในไทย เวียตนาม ญี่ปุ่น บังคลาเทศ และอินเดียตอนเหนือ อเมริกาใต้และสหรัฐอเมริกา (ฮาวาย และฟลอลิดา) ประเทศจีน บันทึกการใช้ผลไม้นี้ มาตั้งแต่ 2000 ปี ก่อนคริสตกาล ลิ้นจี่นั้นเป็นผลไม้ที่ให้ผลผลิตคุ้มค่ากับการลงทุนจึงถือว่าเป็นผลไม้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ที่สามารถนำผลผลิตที่ได้มาจำหน่ายในรูปของผลไม้สดและผลไม้แปรรูป เช่นการทำลิ้นจี่กระป๋อง ลิ้นจี่อบแห้ง แต่รสชาติจะไม่เหมือนลิ้นจี่สด เพราะความหอมได้ถูกทำลายไปในขั้นตอนการผลิต ปัจจุบันนี้ ลิ้นจี่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลายขึ้นเรื่อยๆจากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว
เนื้อลิ้นจี่ มีรสชาติหวานหอมอร่อย เป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานและแต่งรสชาติในอาหารหวานคาว และผสมในเครื่องดื่ม เป็นผลไม้ที่นิยมในประเทศจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดถึงเอเชียใต้ และอินเดีย
เนื้อลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามิน และเกลือแร่ เช่น วิตามิน บี 1 วิตามินบี 2 ไนอะซีน วิตามินเอ ซี วิตามินบี 6 วิตามินอี โปแตสเซี่ยม ทองแดง สังกะสี ฟอสฟอรัส ซีลีเนียม โฟเลต และมีเส้นใยอาหารสูง นอกจากนี้มีกรดอะมิโนที่เป็นโครงสร้างของโปรตีนได้แก่ ไทโรซีน แอสปาราจีน อะลานีน ทรีโอนีน วาลีน และสารประกอบไกลซีน น้ำมันจากเมล็ดลิ้นจี่มีสารประกอบ เป็นกรดไขมันที่สำคัญเช่น ปาล์มมิติก 12% โอลิอิก 27% และไลโนเลอิค 11% ส่วนเปลือกผลมีสารประกอบประเภท ไซยานิดิน- 3 -กลูโคไซด์ และมัลวิดิน - 3 - อะเซทิล – กลูโคไซด์
สรรพคุณทางยา ตามที่ใช้ในประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ นับมาแต่โบราณ เนื้อในผล กินเป็นยาบำรุง แก้อาการไอเรื้อรัง แก้อาการคัดจมูก รักษาอาการท้องเดิน ลดกรดในกระ-เพาะอาหาร และบรรเทาอาการไม่ปกติของระบบทางเดินอาหาร
ในประเทศจีนใช้เปลือกผลลิ้นจี่ทำเป็นชา ใช้ชงเพื่อบรรเทาอาการหวัด แก้การติดเชื้อในลำคอ อาการท้องเสียอย่างอ่อน และโรคจากการติดเชื้อไวรัส ตำรายาจีนกล่าวเฉพาะเมล็ดลิ้นจี่ ว่ามีรสหวาน ขมเล็กน้อย สรรพคุณอุ่น ทำให้พลังชี่ขับเคลื่อน ลดอาการปวด ใช้กรณีปวดท้อง ปวดไส้เลื่อน ปวดบวมของอัณฑะ ใช้ขนาด 5-10 กรัม โดยมักผสมกับสมุนไพรอื่นอีก หนึ่งหรือสองชนิด เมล็ดลิ้นจี่ ที่แห้ง ควรนำมาบด คั่วให้แห้งโดยผสมด้วยน้ำเกลือ แล้วจึงเติมน้ำลงไปต้ม น้ำดื่ม หรือทำเป็นผง รับประทานหรือใช้ ผงยาพอกบริเวณมีอาการปวดบวม รากลิ้นจี่หรือเปลือกต้นใช้แก้อาการติดเชื้อ ไวรัส อีสุกอีใส และเพิ่มความสามารถระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
สำหรับ งานวิจัยซึ่ง ยังต้องการพิสูจน์ซ้ำเพื่อให้ได้ผลยืนยัน พบว่า สารสกัดเมล็ด ด้วยน้ำขนาด 0.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ให้แก่ผู้ที่เป็นพาหะโรคไวรัสตับชนิด บี ใช้ได้ผลดีในการยับยั้งเอ็นไซม์ตับที่สูงขึ้น
งานวิจัยเปลือก ของผลลิ้นจี่มีสารกลุ่มฟลาโวนอลที่สำคัญคือ โพรไซยาไนดินบี 4 ไพรไซยา- ไนดินบี 2 และอีพิคาเทชิน ส่วนที่สำคัญคือ ไซยาไนดิน - 3 - รูตินโนไซด์ ไซยาไนดิน- 3 กลูโคไซด์ เควอเซทิน – 3 - รูติโนไซด์ และเควอเซทิน - 3 - กลูโคไซด์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง และสารสกัดเปลือกยัง มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์ มะเร็งเต้านม ทั้งในห้องทดลองและในสัตว์ทดลอง โดยยับยั้งการขยายจำนวนเซลล์ การควบคุมการสื่อสารระหว่างเซลล์มะเร็ง และเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็ง รายงานวิจัยที่ทำในประเทศจีนอื่นๆยังพบว่า สารสกัดลิ้นจี่ลดขนาดเนื้องอกในสัตว์ทดลอง แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นสารสกัดส่วนใดของลิ้นจี่ สำหรับงานวิจัย นักวิทยาศาสตร์ของไทย พบว่าสารสกัดผลลิ้นจี่มีฤทธิ์ในการปกป้องตับ ในหนูที่เหนี่ยวนำให้ได้รับสารพิษ และเป็นโรคตับ ผลการใช้ลิ้นจี่และผลวิจัยจากสารสกัดลิ้นจี่ แสดง ศักยภาพของลิ้นจี่ ไม่เพียงแต่มีรสอร่อย แต่ยังมากด้วยคุณค่าทางยา อย่างไรก็ดี เนื้อผลลิ้นจี่ ยังมีสารประกอบที่พบในการวิจัยและคาดว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิด อาการ “ ร้อนใน ” ได้ การรับประทานลิ้นจี่มากเกินไปอาจเกิดอาการดังกล่าวได้ ควรรับประทานอาหารหลากหลาย โดยเฉพาะอาหารรสเย็น เพื่อให้เกิดความสมดุลและแก้อาการดังกล่าว
พันธุ์ลิ้นจี่ที่ปลูกในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามแหล่งปลูก ดังนี้
1. กลุ่มพันธุ์ที่ปลูกทางภาคเหนือ เป็นพันธุ์ที่ต้องการความหนาวเย็นมากและยาวนาน ก่อนการออกดอกมากกว่าพันธุ์ที่ปลูกทางภาคกลาง ได้แก่ ฮงฮวย จักรพรรดิ กิมเจง โอวเฮียะ กวางเจา บริวสเตอร์ และกิมจี๊เป็นต้น และมีลักษณะประจำพันธุ์ลิ้นจี่ที่ปลูกทางภาคเหนือ ดังนี้
- พันธุ์ฮงฮวย เป็นพันธุ์ที่ปลูกกันมากที่สุดทางภาคเหนือตอนบน โตเร็ว ทรงพุ่มใหญ่ ใบหนา สีเขียว ขอบใบเป็น คลื่นเล็กน้อย ยอดอ่อนสีเหลืองอ่อนปนเขียว จัดเป็นพันธุ์กลาง ออกดอกประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม ผลแก่ เดือนพฤษภาคม ติดผลดีสม่ำเสมอ ผลดก ผลผลิตสูง ผลโตขนาดผลกว้าง 3.00 เซนติเมตร ยาว 3.5 เซนติเมตร ผลหนักประมาณ 20-30 กรัม ผลทรงกลมรีจนถึงรูปหัวใจไหล่กว้าง หนามห่าง เปลือกค่อนข้างบาง ผิวสีแดงอมชมพู เนื้อสีขาวขุ่น รสหวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอม คุณภาพดี เมล็ดโต ความหวานประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์
- พันธุ์โอวเฮียะ ทรงพุ่มใหญ่แต่เล็กกว่าพันธุ์ฮงฮวย มีกิ่งก้านมากเกิดเป็นมุมแคบ ใบเล็กยาว สีเขียวเข้ม ยอด อ่อนสีแดง เป็นพันธุ์หนัก ออกดอกติดผลไม่สม่ำเสมอ ช่อผลมีขนาดเล็กกว่าพันธุ์ฮงฮวย ผลทรงรูปหัวใจป้อม ขนาดผลกว้าง 3.0 เซนติเมตร ยาว 3.2 เซนติเมตร ผลหนักประมาณ 18-25 กรัม ผิวผลสีแดงเข็มออกคล้ำ เปลือก บาง เนื้อหนา สีขาวขุ่น เนื้อนุ่ม คุณภาพดีกว่าพันธุ์ฮงฮวย กลิ่นหอมน้อยกว่าพันธุ์ฮงฮวย กิ่งฉีกง่าย ออกดอกประ มาณเดือนมกราคม ผลแก่ประมาณต้นมิถุนายน จัดเป็นพันธุ์หนักต้องการความหนาวเย็นมากและยาวนาน ความ หวาน 18.5 เปอร์เซ็นต์
- พันธุ์กิมเจง จัดเป็นพันธุ์หนักต้องการอากาศหนาวเย็นมากและยาวนาน ทรงพุ่มเล็กใบเล็กสั้นยอดอ่อนสีแดง โตช้า ทรงผลกลม ขนาดผลกว้าง 2.8 เซนติเมตร ผลหนักประมาณ 18-20 กรัม หนามใหญ่เกิดห่าง ผิวผลสีแดงอม ชมพู หรือสีออกแดง เนื้อผลสีขาวขุ่น เมล็ดลีบ ออกดอกประมาณปลายเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ เก็บเกี่ยวผล กลางเดือนมิถุนายน พันธุ์กิมเจงอาจแบ่งออกได้เป็น "กิมเจงหนามแหลม" และ "กิมเจงหนามราบ" ความหวาน ประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์
- พันธุ์กวางเจา ต้นเป็นพุ่มกว้าง ใบเล็กยาวคล้ายพันธุ์โอเฮียะแต่ผลขนาดใหญ่กว่า เจริญเติบโตช้ากว่าพันธุ์ฮง ฮวยออกดอกเดือนกุมภาพันธุ์ถึงมีนาคม ผลแก่ต้นเดือนมิถุนายน ผลทรงรูปหัวใจ หนามไม่แหลม สีของเปลือก เมื่อแก่จัดมีสีแดง ผลหนักประมาณ 35-40 กรัมต่อผล ความหวาน 18.5 เปอร์เซ็นต์
- พันธุ์จักรพรรดิ ผลโตมาก ออกดอกประมาณเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ผลแก่ปลายเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ขนาดผลกว้าง 4.4 เซนติเมตร ยาว 4.2 เซนติเมตร ผลหนัก 40-50 กรัม หนามไม่แหลม เปลือก หนาเมื่อแก่จัดสีชมพูแดง เนื้อผลหนา 1.1 เซนติเมตร เนื้อมีน้ำค่อนข้างมาก รสดีพอใช้ ความหวานประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์
2. กลุ่มพันธุ์ที่ปลูกในภาคกลาง
ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ส่วนใหญ่ต้องการความหนาวเย็นไม่มากและหนาวเย็นไม่นานก็สามารถชักนำให้ออกดอกได้ ปลูกในที่ราบต่ำแถวอำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ได้แก่ พันธุ์ ค่อม (ค่อมลำเจียก) กะโหลกใบยาว สำเภาแก้ว กระโถนท้องพระโรง เขียวหวาน สาแหรกทอง จีน ไทยธรรมดา ไทยใหญ่ กะโหลกใบไหม้ กะโหลกในเตา ช่อระกำ และพันธุ์ทิพย์ เป็นต้น และมีลักษณะประจำพันธุ์ลิ้นจี่ที่ปลูกทางภาคกลาง ดังนี้
- พันธุ์กระโถนท้องพระโรง ผลโต ขนาดผลกว้าง 3.5 เซนติเมตร ยาว 3.8 เซนติเมตร ทรงผลรูปหัวใจฐานผลราบ ปลายผลมน หนามเล็กเกิดห่าง ผิวผลแดงคล้ำ ฐานหนามมีรอยสีน้ำตาลเป็นแฉกๆ เนื้อผลสีขาวขุ่น น้ำมาก รสหวาน อมเปรี้ยว ฝาดเล็กน้อย เมล็ดโต ความหวานประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์
- พันธุ์ค่อม ผลโตแต่เล็กกว่าพันธุ์กระโถนท้องพระโรง ผลรูปหัวใจ ไหล่ข้างหนึ่งยกขึ้น หนามแหลมสั้น มีแฉกเห็น ชัด ระหว่างหนามมีร่องสีเขียวอมเหลือง ผิวสีแดงอมชมพูแก่ เนื้อผลฉ่ำน้ำ รสหวานอมฝาด เมล็ดทรงยาว ขนาดผล กว้าง 3.3 เซนติเมตร ยาว 3.5 เซนติเมตร ความหวานประมาณ 19.5 เปอร์เซ็นต์
- พันธุ์เขียวหวาน ผลทรงกลม ขนาดผลกว้าง 2.8 เซนติเมตร ยาว 2.8 เซนติเมตร จำนวนผล 1 กิโลกรัม มีประมาณ 60-70 ผล ผิวผลสีเขียวอมเหลือง ด้านฐานผล สีแดงอมชมพู หนามโต เนื้อบาง สีขาวขุ่น รสหวานอมฝาด กรอบ มีกลิ่น หอม เมล็ดโต ความหวานประมาณ 17.5 เปอร์เซ็นต์ ในสภาพภาคเหนือ ผลแก่ก่อนฮงฮวยประมาณ 2 สัปดาห์
- พันธุ์สาแหรกทอง ผลทรงกลมแบนเล็กน้อย ขนาดผลกว้าง 3.2 เซนติเมตร ยาว 3.20 เซนติเมตร ด้านบนของผล ขยายออก บางผลดูคล้ายรูปหัวใจ ไหล่ผลยกเล็กน้อย ปลายผลมน ผิวสีแดงอมชมพู ระหว่างหนาม สีขาวอมเขียว หนามเล็กสั้นเกิดถี่ปานกลาง เนื้อผลหนา สีขาวขุ่น น้ำมาก รสหวาน กลิ่นหอม ความหวานประมาณ 18.5 เปอร์เซ็นต์
พันธุ์จีน ผลค่อนข้างกลม ขนาดผลกว้าง 3.1 เซนติเมตร ยาว 3.2 เซนติเมตร หนามโตปานกลาง แหลม ผิวสีแดง เลือดนก ระหว่างหนามมีสีน้ำตาลแห้งๆ เนื้อหนาสีขาวขุ่น รสเปรี้ยว เมล็ดโตปานกลาง ความหวานประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์
สภาพพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมสำหรับลิ้นจี่ควรคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญดังนี้
- พื้นที่
• มีความลาดเอียงไม่ควรเกิน 15%
• มีการระบายน้ำดี ระดับน้ำใต้ดินลึกกว่า 1 เมตร
- ลักษณะดิน
ลิ้นจี่เป็นพืชที่ต้องการดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงหรือปานกลาง มีการระบายน้ำดีเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงควรปลูกลิ้นจี่ในพื้นที่สูงพอสมควร เพราะมีการระบายน้ำที่ดีกว่าในพื้นที่ต่ำ ดินควรมีค่าความเป็นกรดและด่าง (pH) = 5.0-7.0
- สภาพภูมิอากาศ
การเจริญเติบโตของลิ้นจี่ต้องการอุณหภูมิต่ำประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส แต่ในช่วงก่อนออกดอกต้องการอุณหภูมิต่ำประมาณ 10-20 องศาเซลเซียส นานติดต่อกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์และแหล่งปลูก เมื่อติดผลแล้วอุณหภูมิสูงขึ้นก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ควรเกิน 40 องศา เซลเซียส เพราะจะทำให้ผลแตกเสียหายได้
- แหล่งน้ำ
มีแหล่งน้ำสะอาดที่ไม่มีสารอินทรีย์และอนินทรีย์ที่เป็นพิษปนเปื้อน และมีปริมาณพอที่จะใช้ได้ตลอดช่วงฤดูแล้ง
- ปริมาณน้ำฝน
• ปริมาณน้ำฝนในปีหนึ่งๆ ควรอยู่ระหว่าง 1,200-1,400 มิลลิเมตรต่อปี จะทำให้เออกดอกติดผลได้ดี
• ถ้าหากพื้นที่ใดมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า 1,200 มิลลิเมตรต่อปี แล้วจะต้องมีการให้น้ำช่วยด้วย
• ส่วนจำนวนวันและการกระจายของฝนที่ตกเป็นสิ่งสำคัญ ไม่น้อยกว่าปริมาณรวมของน้ำฝนที่ตกทั้งปี โดยทั่วไป ถ้าหากมีการกระจายของฝน 100-150 วันต่อปี ขึ้นไปจะเหมาะต่อการติดผลของลิ้นจี่มาก
- ปริมาณความชื้น
ปริมาณฝนที่ในปีหนึ่งๆ จะมีผลเกี่ยวข้องกับความชื้นในดิน ซึ่งมีความจำเป็นต่อลิ้นจี่ในช่วงการเจริญเติบโตทาง กิ่งก้าน การออกดอกติดผลจนถึงเก็บเกี่ยว แต่ปริมาณความชื้นจะพัฒนา การของลิ้นจี่จะแตกต่างกัน
โดยทั่วไปแล้วลิ้นจี่ต้องการความชื้นในดินสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน ซึ่งในช่วงนี้ ถ้าลิ้นจี่ขาดความชื้นในดิน ดอกที่ออกมามักจะแห้งหรือที่ออกดอกแล้วดอกจะร่วง ในกรณีที่มีฝนตกในเดือนเมษายนที่เรียกกันว่า ฝนแรก มักจะทำให้ผลลิ้นจี่แตกและร่วงมาก ดังนั้นการให้น้ำลิ้นจี่ในช่วงหน้าแล้ง แม้จะมีฝนตกในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม จะต้องมีการให้น้ำ เพราะในระยะนี้เป็นช่วงที่มีความชื้นในดินและความชื้นในอากาศต่ำ ในฤดูหนาวความชื้นในอากาศจะลดลงตามลำดับ และจะลดลงมากในเดือนมีนาคมถึงเมษายน ซึ่งเป็นช่วงผลที่ลิ้นกำลังสร้างเนื้อ เมื่อการระเหยของน้ำในใบมีมากขึ้น ความชื้นในอากาศที่ต่ำจึงมีส่วนทำให้การสร้างเนื้อได้น้อย ผลจึงเล็กและรสเปรี้ยวจัด แม้ผิวเปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือแดงแล้วก็ตาม จึงจำเป็นต้องให้น้ำตามความต้องการของลิ้นจี่
การขยายพันธุ์ลิ้นจี่ทำได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การตัดชำ การตอนกิ่ง การทาบกิ่งและการต่อกิ่ง แต่วิธีการ ขยายพันธุ์ที่ชาวสวนนิยมมากที่สุด คือ การตอนกิ่งแบบตอนอากาศ (Air layering) เพราะว่าเป็นวิธีการที่ง่ายประกอบ กับลิ้นจี่เป็นพืชที่ออกรากได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตาม มีเกษตรกรบางรายที่ขยายพันธุ์ลิ้นจี่โดยวิธีการ ต่อกิ่ง
การเพาะเมล็ดลิ้นจี่ โดยทั่วไปไม่ค่อยนิยมทำกัน เนื่องจากมักจะมีการกลายพันธุ์ ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ด เมื่อนำไปปลูกต้องใช้ระยะเวลานานถึง 10 ปี หรือมากกว่านี้ บางครั้งอาจพบถึง 25 ปี จึงจะออกดอก นอกจาก นั้นต้นกล้าที่ได้มีการเจริญเติบโตช้า และบางพันธุ์เมล็ดมักลีบ (chicken tongues) เช่น พันธุ์กวางเจา ซึ่งอาจ มีปัญหาบ้าง แต่ข้อดีของการขยายพันธุ์โดยเมล็ดคือ ได้พันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น พันธุ์ Peerless กลายพันธุ์มาก จากพันธุ์ Brewster และพันธุ์ Bengal กลายพันธุ์มาจากพันธุ์ Purbi เป็นต้น นอกจากนี้การเพาะเมล็ดยังมี จุดประสงค์เพื่อที่จะใช้เป็นต้นตอสำหรับการต่อกิ่งติดตาและทาบกิ่ง
การตอนกิ่งลิ้นจี่ปกติจะได้ผลถึง 95 -100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปกติจะทำการตอนกิ่งในฤดูฝน มีเทคนิคการตอนกิ่งดังนี้
1. เลือกกิ่งที่ตั้งตรง ความยาว 75-100 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ควรเลือกกิ่งที่ได้รับ แสงเต็มที่จะออกรากได้ดีกว่าที่รับแสงน้อย
2. ควั่นกิ่งโดยใช้คีมปากจิ้งจกบิดบริเวณที่จะควั่น เพื่อให้เปลือกลอกออกและลึกเข้าเนื้อไม้เล็กน้อยเพื่อตัดเยื่อ เจริญให้ขาด
3. หุ้มรอยควั่นด้วยขุยมะพร้าวซึ่งบรรจุอยู่ในถุงขนาด 4x6 นิ้ว มัดด้วยเชือกฟางให้แน่น
4. หากต้องการเร่งการเกิดรากให้เร็วขึ้น อาจใช้สารเร่งรากเซราดิกซ์เบอร์ 2 หรือ 3% ทาบริเวณรอยควั่นด้านบน
5. ประมาณ 30-45 วันกิ่งตอนจะเริ่มเกิดราก
จุดมุ่งหมายในการต่อกิ่งเพื่อต้องการที่จะใช้ประโยชน์จากต้นตอ ในด้านการควบคุมขนาดของทรงต้นและนิสัยการเจริญ เติบโต ผลผลิต คุณภาพผล รวมถึงความต้านทานโรคต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ
วิธีการต่อกิ่ง ใช้วิธีการต่อกิ่งแบบเสียบลิ่ม โดยเลือกต้นตอและกิ่งพันธุ์ให้มีขนาดใกล้เคียงกัน คือ มีขนาด 3-10 มิลลิเมตร ความยาวของกิ่งพันธุ์ดี 10-15 เซนติเมตร ยอดพันธุ์ดี ควรมีใบติด 3-4 ใบ ขั้นตอนการต่อกิ่งแบบเสียบลิ่ม
1. ตัดยอดต้นตอสูงจากพื้น 3-4 นิ้ว ผ่าต้นตอให้ยาวประมาณ 1 นิ้ว
2. เฉือนโคนกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่มยาว 1 นิ้ว
3. เผยอรอยผ่าบนต้นตอออกแล้วสอดโคนกิ่งพันธุ์ดี จัดแนวเนื้อเยื่อเจริญให้ชิดกัน
4. พันด้วยพลาสติกให้แน่น
5. นำใส่ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ มัดปากถุงให้แน่น นำไปเก็บไว้ที่ร่ม แสงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 40-50 วัน จึงเปิดปากถุง
การปลูก
การเตรียมพื้นที่ หลังจากเลือกพื้นที่ปลูกได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปที่จะต้องทำคือ การเตรียมพื้นที่ปลูก ซึ่งจัดได้ว่ามีความสำคัญมาก เพราะลักษณะของพื้นที่แต่ละแห่งนั้นจะแตกต่างกันออกไป สามารถแบ่งได้ 2 แบบ
1. ที่ลุ่ม ขุดร่องยกแปลงขึ้นมาเพื่อเป็นการระบายน้ำเพราะลิ้นจี่ไม่ชอบดินปลูกที่แฉะน้ำ สำหรับความลึกของ ร่องประมาณ 80-100 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เมตรหรืออาจขุดร่องตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจาก ความสูงต่ำของพื้นที่ และความกว้างของแปลงปลูกไม่ควรต่ำกว่า 5 เมตร ส่วนความยาวของแปลงปลูกก็สุดแล้ว แต่ขนาดของพื้นที่
2. ที่ดอน เตรียมพื้นที่โดยการไถพรวนและปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ การเตรียมพื้นที่ในที่ดอนควรคำนึงถึง แหล่งน้ำที่จะใช้ด้วย พร้อมทั้งควรมีการปลูกพืชบังลมเพื่อป้องกันลม
ระยะปลูก
การกำหนดระยะปลูกว่าจะเป็นระยะเท่าใดนั้นมีข้อพิจารณาดังต่อไปนี้
1. ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงจะทำให้การเจริญเติบโตของลิ้นจีดีกว่าการปลูกในดิน ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ฉะนั้นถ้าหากพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงแล้ว ควรจะใช้ระยะปลูกที่ห่างขึ้น ซึ่งจะตรง กับที่พูดกันติดปากว่า "ดินเลวปลูกถี่ ดินดีปลูกห่าง"
2. ขนาดของทรงพุ่มลิ้นจี่ ต้องคำนึงถึงว่าเมื่อลิ้นจี่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ทรงพุ่มจะมีขนาดเท่าใด เพื่อจะป้องกัน ทรงพุ่มชนกัน เพราะนิสัยการออกดอกติดผลของลิ้นจี่จะมีการออกดอกติดผลบริเวณปลายทรงพุ่ม จึงต้องมีการ ป้องกันการแย่งแสง
3. พันธุ์ ลิ้นจี่แต่ละพันธุ์มีการเจริญเติบโตและขนาดทรงพุ่มที่แตกต่างกัน
การเตรียมหลุมปลูก ขนาดของหลุมปลูกที่เหมาะสมนั้น ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ดี มักจะใช้ขนาด 50x50x50 เซนติเมตร (กว้างxยาวxลึก) ส่วนดินที่มีความอุดมสมบูรณ์น้อย มักจะใช้ขนาด 80x80x80 เซนติเมตร การขุดหลุมควรแยกดินออกเป็น 2 ส่วน คือ ดินชั้นบน และดินชั้นล่าง ในการปลูกนั้น ควรนำเอาดินชั้นบนผสมกับปุ๋ยคอกเก่าๆ หรือปุ๋ยหมักประมาณ 1 ปี๊บ และใส่ร๊อกฟอสเฟตหรือกระดูกป่นอีก 100 กรัม คลุกเคล้าดินกับปุ๋ยให้เข้ากันดี แล้วนำไปใส่หลุมและนำเอาดินชั้นล่างขึ้นข้างบนกลบทับให้เต็มหลุม โดยให้สูงกว่าปากหลุมประมาณ 15-20 เซนติเมตร
การชักนำการออกดอกของลิ้นจี่ ในปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถควบคุมได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้าน สภาพแวดล้อมในแต่ละปี ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ แต่อย่างไรก็ตามมี ผู้เสนอแนวทางในการควบคุมการออกดอก ไว้ดังนี้ คือ
1. การคัดเลือกพันธุ์ ดังที่ได้กล่าวข้างต้นจะเห็นว่าพันธุ์แต่ละพันธุ์มีความยากง่ายในการออกดอกในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นไม่มาก และมีช่วงหนาวเย็นสั้นควรปลูกพันธุ์ภาคกลาง เช่น พันธุ์ค่อม พันธุ์สำเภาแก้ว พันธุ์ทิพย์ พันธุ์จีน เป็นต้น พันธุ์ดังกล่าวจะออกดอกได้ง่าย ส่วนพันธุ์ทางภาคเหนือที่ออกดอกง่ายได้แก่ พันธุ์กิมจี๊ พันธุ์ฮงฮวย สำหรับพันธุ์ที่ออกดอกยาก เช่น พันธุ์ โอเฮียะ และกิมเจง ควรเลือกปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นมากๆ ละยาวนานจึงจะออกดอกได้ดี นอกจากการคัดเลือกพันธุ์แล้วควรเลือกกิ่งพันธุ์จากต้นที่มีประวัติการออกดอกติดผลสม่ำเสมอไปปลูก
2. การควั่นกิ่ง การควั่นกิ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ยับยั้งการแตกใบอ่อน ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมการออกดอกของลิ้นจี่ได้ระยะใบที่เหมาะสม ต่อการควั่นกิ่งนั้นควรอยู่ในระยะใบแก่ ตั้นลิ้นจี่ที่ควั่นกิ่งต้องสมบูรณ์ การควั่นกิ่งควรทำในเดือนตุลาคม โดยควั่นกิ่งที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 12 เซนติเมตร ขนาดของรอยควั่นกว้าง 1-1.5 มิลลิเมตรลึกเข้าไปถึงเนื้อเยื่อ การควั่นกิ่งจะประสบผลสำเร็จจะต้องมีอุณหภูมิต่ำร่วมด้วย
3. การงดการให้น้ำ โดยงดการให้น้ำก่อนการออกดอกประมาณ 2 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นจี่แตกใบอ่อน แต่วิธีนี้บางครั้งอาจไม่ได้ผลเนื่องจากมักมีฝนหลงฤดูตกในช่วงฤดูหนาวทำให้ลิ้นจี่แตกใบอ่อนเกิดขึ้น
4. การปลิดยอดอ่อนที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว ในช่วงเทศกาลลอยกระทง ซึ่งตรงกับปลายเดือนพฤศจิกายน จะมีฝนตกแทบทุกปี และมักจะตกปริมาณมาก ทำให้ลิ้นจี่ที่ขาดน้ำมานาน ดูดน้ำฝนเข้าไปเต็มที่ จึงแตกยอดอ่อนในช่วงต้นถึงกลางเดือนธันวาคม ซึ่งใบชุดนี้จะยังแก่ไม่ทันที่อากาศหนาวจัดจะมาถึง ในช่วงปลายธันวาคมถึงต้นมกราคม ทำให้ลิ้นจี่ไม่สามารถออกดอกในปีนั้นได้ ดังนั้นการทำลายยอดอ่อนจึงเป็นการสร้างโอกาสให้ลิ้นจี่ออกดอกได้มากขึ้น ซึ่งอาจทำได้โดยใช้มือปลิด หรือใช้สารเอทธิฟอนความเข้มข้น 400 ส่วนต่อล้าน(ppm) ฉีดพ่น
การให้ปุ๋ยต้นลิ้นจี่แบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงคือ ช่วงต้นเล็กก่อนให้ผลผลิตและช่วงให้ผลผลิตแล้ว การให้ปุ๋ยแต่ละช่วงมีเป้าหมายต่างกัน ทำให้ต้องใช้สูตรปุ๋ย อัตราปุ๋ยและเวลาให้แตกต่างกัน
1. เกษตรกรควรวิเคราะห์ดินก่อนปลูก เพื่อปรับปรุงดินให้เหมาะสม และเพื่อการใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้อง
2. กรณีที่ปลูกลิ้นจี่แล้ว ควรเก็บตัวอย่างดินวิเคราะห์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อจะได้ทราบว่าการปรับปรุงดินและการใส่ปุ๋ย ในแต่ละปีทำให้ดินมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ควรคัดปรับปรุงหรือใส่ปุ๋ยเพิ่มเติมอย่างไร
3. การให้ปุ๋ยลิ้นจี่ที่ให้รวบรัดแล้ว ควรคำนึงถึงปริมาณเป็นหลักในการใส่ปุ๋ย และควรพิจารณาปริมาณธาตุอาหารที่คงเหลืออยู่ในดินประกอบด้วย
4. เกษตรกรควรมีการเก็บตัวอย่างใบวิเคราะห์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เมื่อในชุดที่ 1 อายุ 45-50 วัน และก่อนยึดช่อดอก
5. การใส่ปูนโคโลไมท์ จะใส่เฉพาะในดินที่เป็นกรด และมีแมกนีเซียมในดินต่ำ
6. ดินที่มี pH เป็นกรดระดับเดียวกัน ต้องการปูนสะเทินความเป็นกรดไม่เท่ากัน ถ้าเนื้อดินต่างกัน
7. ไม่ควรแนะนำให้ใส่ปูน และปุ๋ยก่อนทราบค่าวิเคราะห์ดิน เพราะอันตรายมาก ถ้าดินเสียแล้วจะแก้ไขยาก
การให้น้ำ
- การให้น้ำแก่ลิ้นจี่ช่วงต้นเล็กในระยะ 1 -2 ปีแรก
- การให้น้ำแก่ต้นลิ้นจี่ปลูกใหม่ในระยะ 2 ปีแรก โดยทั่วไปแล้วปริมาณน้ำที่ต้องรดให้แก่ต้นไม้ที่ปลูก ในปีแรกและปีที่ 2 ประมาณ 20 - 60 ลิตร ต่อระยะ 4-5 วัน (รดให้ดินเปียกน้ำกว้าง 0.5 และ 1.0 เมตร)
การให้น้ำแก่ลิ้นจี่อายุ 3 ปีขึ้นไป
- วิธีการให้น้ำแก่ผิวดิน การให้น้ำโดยทางผิวดิน เป็นการให้น้ำครั้งหนึ่งๆเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ดินที่ความลึกอย่างน้อย 50 เซ็นติเมตร อุ้มน้ำไว้ให้มากที่สุด ให้พืชค่อยๆใช้ได้หลายวัน โดยปริมาณน้ำที่ให้จึงขึ้นอยู่กับขนาดทรงพุ่มและน้ำที่พืชใช้ประโยชน์ได้ น้ำที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แตกต่างกันไปตามความหยาบละเอียดของดิน โดยทั่วไปแล้ว การให้น้ำทางผิวดินที่ง่ายที่สุด คือ การไขน้ำเข้าท่วมขังในพื้นที่ทั้งสวน ให้น้ำสูงเท่ากับความลึกที่ต้องการ การที่จะทำเช่นนี้ได้ พื้นที่สวนต้องราบเรียบเสมอกันทั้งสวน ถ้าสวนไม่ราบเรียบเสมอกันทั้งสวน ให้ทำคันดินรอบทรงพุ่มของต้นลิ้นจี่แต่ละต้น แล้วไขน้ำเข้าขังในคันให้สูงตามต้องการ
- การให้น้ำโดยสปริงเกอร์และสปริงเกอร์เล็ก
การเลือกหัวสปริงเกอร์ ต้องคำนึงถึงอัตราการซึมนำของดินอีกด้วย โดยต้องเลือกสปริงเกอร์ ที่ให้น้ำ ด้วยอัตราที่ไม่เร็วกว่าที่น้ำจะซึมเข้าในดินได้ ไม่เช่นนั้นจะมีน้ำไหลล้นออกนอกทรงพุ่ม เป็นการสูญเสียน้ำ เนื่องจากการให้น้ำโดยสปริงเกอร์และมินิสปริงเกอร์ สามารถทำได้สะดวก เกษตรกรสามารถให้น้ำเป็นราย 3 วัน หรือ ราย 7 วัน ได้โดยง่าย ดังนั้นเกษตรสามารถเลือกให้น้ำทุก 5-7 วัน แล้วแต่เนื้อดิน ถ้าเป็นดินร่วนปนทรายให้ทุก 5 วัน ถ้าเป็นดินเหนียวให้ทุก 7วัน เป็นต้น
การตัดแต่งกิ่ง
การควบคุมทรงต้นลิ้นจี่ต้นเล็ก ควรจะเริ่มตั้งแต่การเลือกต้นกล้ากิ่งตอนจากกิ่งกระโดงน้ำฝนหรือต้นกล้า ที่ได้จากการ ติดตา ต่อกิ่ง หรือต่อยอด มีหลักปฏิบัติดังนี้
1. หลังจากปลูกเลี้ยงต้นกล้าให้ความสูงประมาณ 80-100 เซนติเมตร จึงตัดยอดเพื่อสร้าง กิ่งข้าง
2. รอจนแตกตาข้างยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ให้เลือกกิ่งที่ทำมุมกว้างกับลำต้นไว้ 3-4 ยอดรอบๆ ลำต้น แล้วจึงตัดปลายยอดออก ให้เหลือความยาวกิ่งประมาณ 50 เซนติเมตร ปล่อยไว้แตกกิ่งแขนงโดยรอบยาวประมาณ 50 เซนติเมตร โดยเลือกกิ่งทำมุมกว้างกับกิ่งหลัก 3-4 กิ่งตัดปลายยอดออก ให้เหลือความยาวกิ่งประมาณ 50 เซนติเมตรเช่นกัน โดยถือปฏิบัติเช่นนี้ จนต้นลิ้นจี่มีอายุ 3-4 ปี จึงปล่อยให้ต้นลิ้นจี่ออกดอกติดผล
3. วิธีการนี้จะลดปัญหาเรื่องการใช้ไม้ค้ำยันให้กับต้นลิ้นจี่ได้อย่างดียิ่ง
การควบคุมทรงต้นและการตัดแต่งกิ่งลิ้นจี่ต้นใหญ่
1. การตัดกิ่งในทรงพุ่ม
2 การตัดกิ่งเพื่อเปิดกลางทรงพุ่ม จนแสงแดดสามารถส่องผ่านลงถึงโคนต้น
3. การตัดยอดลิ้นจี่เพื่อควบคุมความสูง
4. การตัดยอดหรือกิ่งลิ้นจี่ทีประสานกันจนไม่สามารถจะออกดอกติดผลได้
การจัดการวัชพืช การจัดการวัชพืชในสวนลิ้นจี่นั้นจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุหรือขนาดของลิ้นจี่ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 ช่วงอายุ คือ ลิ้นจี่และลิ้นจี่ใหญ่
1. การกำจัดวัชพืชรอบโคนลิ้นจี่เล็ก วิธีการใช้จอบถากนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้รัศมีรอบโคนห่างนัก เพียงแต่ถากวัชพืชให้กว้างออกจากโคนต้นพอประมาณ ที่จะใส่ปุ๋ย ให้น้ำได้ เมื่อถากเสร็จอาจใช้เศษวัชพืชเหล่านั้นหรือวัสดุอื่น ๆ เช่น ฟางข้าวมาคลุมรอบโคน ที่ช่วยป้องกันการขึ้นของวัชพืชที่จะงอกออกมาใหม่ อีกทั้งยังเป็นการช่วยรักษาความชื้นในดินด้วย การถากด้วยจอบในการกำจัดรอบโคนนี้ อาจให้รัศมีความกว้างออกจากโคนต้นประมาณ1 เมตรขึ้นไป และเมื่อต้นใหญ่ขึ้นก็ต้องขยายออกไปตามขนาดของทรงพุ่ม
2. การจัดการวัชพืชในลิ้นจี่ใหญ่ ทำได้หลายแบบดังนี้
1. การใช้รถตัดหญ้า เป็นวิธีการได้ผลเร็ว ปลอดภัยต่อลิ้นจี่
2. การใช้สารกำจัดวัชพืช ในกรณีที่มีวัชพืชข้ามปี เช่น หญ้าคาขึ้นในระหว่างแถวปลูก
โรคและการป้องกันกำจัด
- โรคใบจุดสนิม หรือจุดสาหร่าย
สาเหตุ สาหร่าย เซฟาลิวโรส ( Cephaleuros virescens)
ลักษณะอาการ เกิดบนใบแก่ลิ้นจี่ แผลเริ่มแรกเป็นจุดขุยสีเทาอมเขียวฟูเล็กน้อย เกิดกระจัดกระจายบนใบ ต่อมาจุดจะขยายออกและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมส้มหรือสีสนิม ลักษณะค่อนข้างกลมขนาด 3-5 มิลลิเมตร ระยะต่อมาจุดจะแห้งและทำให้เนื้อเยื่อใบทั้งด้านบนและใต้ใบบริเวณ แผลมีลักษณะสีน้ำตาลดำ ในที่สุดใบที่เป็นโรคจะมีสีซีดเหลืองปนน้ำตาลและใบร่วง
การแพร่ระบาด
สาหร่ายแพร่ระบาดไปกับลมและพายุฝน เข้าทำลายในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงพืช อาศัยของสาหร่ายชนิดนี้มีหลายชนิดเช่น มะม่วง ลำไย เงาะ ฝรั่ง ส้ม ทุเรียน และไม้ผลอื่น ๆ
การป้องกันกำจัด ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง และพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช คอบเปอร์ออกซีคลอไรด์
- โรคราสนิม
สาเหตุ เชื้อราสเกอกา (Skierka nephelii)
ลักษณะอาการ ใบลิ้นจี่ที่แก่บริเวณใต้ทรงพุ่ม แสดงอาการเป็นจุดนูนขนาดเล็กมากสีเหลือง เกิดกระจัด กระจายทางด้านใต้ใบ และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในระยะต่อมา
การแพร่ระบาด สปอร์ของเชื้อราฟุ้งกระจายแพร่ระบาดไปกับลมและพายุ ในสภาพอากาศทางภาคเหนือ ของประเทศไทย
การป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง และพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชแมนโคเซบ เป็นโรคที่ยังไม่มี ความสำคัญทางเศรษฐกิจ
- โรคลำต้นและกิ่งแห้ง
สาเหตุ ยังไม่ทราบสาเหตุ
ลักษณะอาการ พบเป็นกับลิ้นจี่หลายพันธุ์ อายุ 3-20 ปี ส่วนใหญ่เมื่อต้นลิ้นจี่มีอายุตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป เริ่มแรกแสดงอาการทรุดโทรมใบร่วงและปลายกิ่งแห้งเป็นบางกิ่งหรือทั้งต้น บริเวณโคน ลำกิ่งหรือลำต้น มีแผลลักษณะเป็นรอยแตก รูปร่างและขนาดไม่แน่นอน เมื่อเฉือนผิวเปลือกออก แผลมีอาการไหม้สีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลดำ การพัฒนาของโรคจะเป็นไปอย่างช้า ๆ กรณีต้นลิ้นจี่ที่มีอายุยังน้อยการพัฒนาการจะเป็นอย่างเฉียบพลัน ใบจะร่วงและกิ่งแห้งอย่างรวดเร็ว ในที่สุดต้นลิ้นจี่มีลักษณะยืนต้นตาย
การแพร่ระบาด พบเป็นกับต้นลิ้นจี่ตลอดทั้งปี
การป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่งเป็นโรคนำไปเผาทำลาย แล้วบำรุงรักษาต้นให้สมบูรณ์แข็งแรง โดยการใส่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเคมี และพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างสม่ำเสมอ
- โรคราดำ
สาเหตุ เชื้อรา แคบโนเดียม และเมลิโอลา (Copnodium sp. และ Meliola sp.)
ลักษณะอาการ
ใบ กิ่ง ช่อดอก และช่อผล มีลักษณะเป็นคราบเขม่าหรือฝุ่นผง มีสีดำ ขึ้นเจริญปกคลุมทำให้ชะงักการเจริญเติบโตและผิวของผลไม่สะอาด เมื่อถูกน้ำฝนชะล้างคราบเขม่าสีดำของเชื้อราจะหลุดไปเอง
การแพร่ระบาด เชื้อราดำแพร่ระบาดภายหลังแมลงพวกดูด เช่น เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้งเข้าทำลายต้นลิ้นจี่ แล้วขับถ่ายสารเหนียวเป็นละอองน้ำหวาน (honey dew) ลงบนพืช ซึ่งเป็นอาหารของเชื้อราดำ
การป้องกันกำจัด ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง ควบคุมการแพร่ระบาดของแมลงเพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง และ พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างสม่ำเสมอ
- โรคเปลือกผลไหม้
สาเหตุ ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่ชัดเจน
ลักษณะอาการ โรคเปลือกผลไหม้ มี 2 ลักษณะอาการ
• อาการไหม้บริเวณขั้วผล แผลมีลักษณะสีน้ำตาลอ่อนขอบแผลสีน้ำตาล รูปไข่และ ขนาดไม่แน่นอน ขนานไปตามความยาวผลพบในระยะที่ผลลิ้นจี่กำลังสร้างเนื้อผล (เปลือกสีเขียวปนเหลือง) ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลปนดำ บางครั้งแผลแตกปริเนื่องจากเนื้อผลขยายขนาด
• อาการไหม้ทั่วไปบนผล แผลมีลักษณะสีน้ำตาลอ่อนจนถึง น้ำตาลปนดำบนผล ตำแหน่ง ขนาดและรูปร่างของแผล ไม่แน่นอน พบในระยะที่ผลลิ้นจี่กำลังสร้างเนื้อเป็นต้นไป แผลอาจแตกปริเนื่องจากเนื้อผลขยายขนาด
- โรคผลแตก
สาเหตุ ลิ้นจี่ได้รับน้ำหรือธาตุอาหารไม่เพียงพอในระยะระหว่างที่ผลลิ้นจี่กำลังพัฒนา
ลักษณะอาการ เปลือกผลแตกตามความยาวของผลบริเวณก้นผลในระยะที่ผลลิ้นจี่กำลังสร้างเนื้อผลหุ้มเมล็ด และระยะที่เปลือกผลเริ่มเปลี่ยนสี ต่อมาเนื้อผลเน่าเนื่องจากมีจุลินทรีย์เข้าทำลายซ้ำเติม การแพร่ระบาด เป็นโรคที่ไม่ติดเชื้อไม่มีการแพร่ระบาด
การป้องกันกำจัด
1. ให้น้ำลิ้นจี่ทีละน้อยและสม่ำเสมอระหว่างที่ผลลิ้นจี่ กำลังพัฒนา
2. ให้ปุ๋ยธาตุอาหารรองอย่างสม่ำเสมอระหว่างที่ผลลิ้นจี่ กำลังพัฒนา เช่น ธาตุแคลเซียม โบรอน สังกะสี ทองแดง และแมกนีเซียม นอกเหนือจากการให้ธาตุอาหารหลักได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม
3. พ่นสารป้องกันและกำจัดโรคแมลงศัตรูพืชโดยสม่ำเสมอ
- โรคผลร่วง
สาเหตุ เป็นผลมาจากการตายของคัภพะในระหว่างที่ใบเลี้ยงมีการพัฒนา เกิดในช่วงที่ผลลิ้นจี่มีอายุ ประมาณ30-50 วัน ภายหลังการผสมเกสร และบางครั้งอาจเกิดจากการทำลายของหนอนเจาะขั้วลิ้นจี่
ลักษณะอาการ ผลลิ้นจี่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-8 มม. ร่วง ผลลิ้นจี่บางส่วนอาจไม่ร่วงและมีการพัฒนาเจริญเติบโตไปจนแก่และสุก แต่ผลจะมีขนาดเล็กกว่าผลที่มีเมล็ดปกติ
การแพร่ระบาด
สาเหตุที่เกิดจากการตายของคัภพะ ไม่ทำให้โรคแพร่ระบาด ปัจจัยที่เกิดจากหนอนเจาะขั้ว ลิ้นจี่ ดูรายละเอียดในแมลงศัตรูลิ้นจี่และการป้องกันกำจัด
การป้องกันกำจัด การตายของคัภพะไม่ทราบวิธีการป้องกันกำจัด ส่วนการป้องกันกำจัดหนอนเจาะขั้วลิ้นจี่ ดูในแมลงศัตรูลิ้นจี่และการป้องกันกำจัด
- โรคราน้ำค้างเทียม หรือโรคผลไหม้สีน้ำตาล
สาเหตุ เชื้อราเพอร์โรโนไฟโธรา (Peronophythora litchii)
ลักษณะอาการ เกิดแผลสีน้ำตาลดำรูปร่างและขนาดไม่แน่นอน และขอบแผลมีลักษณะไม่ชัดเจนบนก้านผล ผล ใบ และรากลิ้นจี่ เชื้อราสร้างส่วนขยายพันธุ์สีขาวฟูบนแผลในช่วงระยะหลังของการ ติดเชื้อ เมื่อสภาพแวดล้อมชุ่มชื้นและมีฝนตก
การแพร่ระบาด เชื้อราฟักตัวข้ามฤดูถัดไป หรือเศษซากพืชที่ติดเชื้อ แล้วแพร่ระบาดไปกับน้ำฝน ลมพายุ แมลง และดินที่มีเชื้อในฤดูถัดไป สภาพอุณหภูมิที่ 22-25 0 C และมีฝนตกชุกเกือบทุกวัน โรคจะลุกลามและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง
การป้องกันกำจัด โรคราน้ำค้างเทียม จะให้ผลดีถ้าใช้วิธีผสมผสานกันระหว่างวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
1. ปลูกลิ้นจี่ให้มีระยะห่างที่พอเหมาะไม่ปลูกชิดเกินไป
2. ตัดแต่งกิ่งให้โปร่งเพื่อให้แสงแดดส่องถึงโคนต้น และกำจัดวัชพืชภายใต้ทรงพุ่ม แล้วขนย้ายกิ่งแห้ง และกิ่งที่ติดเชื้อออกไปจากแปลงแล้วเผาทำลาย
3 บำรุงรักษาต้นลิ้นจี่ให้เจริญเติบโตแข็งแรง โดยการใส่ปุ๋ย ให้น้ำในช่วงที่อากาศแห้งแล้งและพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชและสารฆ่าแมลงอย่างสม่ำเสมอ
4. หมั่นตรวจแปลงในฤดูหนาวเมื่อพบใบลิ้นจี่เป็นโรค ควรพ่นต้นลิ้นจี่และผิวดินบริเวณ โคนต้นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ กรณีที่พบโรคช่วงฤดูฝน ซึ่งสภาพอากาศอบอุ่นและดินมีความชื้นสูง ควรพ่นด้วยสารละลายจุนสีเข้มข้น 0.2-0.3% + โซดาซักผ้า เข้มข้น 0.1% ถ้าพ่นบนผิวดินเพิ่มความเข้มข้นเป็น 2 เท่า จาก นั้นโรยปูนขาวบริเวณโคนต้น
5.การป้องกันกำจัดโรคในระยะแตกตาดอก ระยะเริ่มติดผลไปจนถึงก่อนผลสุกควรพ่นป้องกันด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช แมนโคเซบ เมื่อพบอาการของโรคปรากฏที่ผลเพียง 1 ผล ให้เปลี่ยนไปพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมตาแลกซิล + แมนโคเซบ ไซม๊อกซานิล + แมนโคเซบ ฯลฯ จำนวน 1-2 ครั้ง แล้วกลับไปพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช แมนโคเซบ เช่น เดิมเว้นระยะให้สารเคมีสลายตัวก่อนการเก็บเกี่ยวอย่างน้อย7 วัน
6. กรณีที่ผลและใบลิ้นจี่เป็นโรคแล้วร่วงหล่นอยู่บนพื้นดิน ภายใต้ทรงพุ่ม ควรรีบเก็บแล้วนำไปเผาทำลาย ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน เนื่องจากเชื้อราสามารถมีชีวิต และอาศัยอยู่ในดินข้ามฤดู เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะทำให้เกิดการติดเชื้อใหม่ในฤดูต่อไป
7. การควบคุมโดยชีววิธี โดยใช้เชื้อปฏิปักษ์ Trichoderma หรือBacillus ผสมคลุกเคล้ากับดินภายใต้ทรงพุ่ม และผสมน้ำพ่นให้ทั่วทั้งต้น เป็นวิธีการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพทั้งในแง่การป้องกันและกำจัดโรค
- โรคผลเน่าภายในหลังการเก็บเกี่ยว
สาเหตุ เกิดจากเชื้อราหลายชนิด เช่น เชื้อราคอเลคโตตริคัม (Colletrichum gloeosporioides), เชื้อราโบทรัยโอดิโพลเดีย (Botryodipia theobromae), เชื้อราโฟมา (Phoma sp.) และ เชื้อราโฟมอพซิส (Phomopsissp.) เป็นต้น
ลักษณะอาการ ผลลิ้นจี่สุกภายหลังเก็บเกี่ยวที่เก็บรักษาไว้ในสภาพควบคุมความชื้น จะแสดงอาการแผลเน่า สีน้ำตาลเข้มจนถึงสีน้ำตาลดำ ลักษณะแผลค่อนข้างกลมมีขนาดไม่แน่นอน เชื้อราสร้างเส้นใยและมวลสปอร์บนผิวเปลือกที่เป็นโรค ภายใต้สภาพอุณหภูมิห้อง โรคผลเน่าจะ พัฒนาอย่างรวดเร็วภายในเวลา 2-3 วัน การเก็บรักษาผลลิ้นจี่ในสภาพอุณหภูมิ5-6๐C
อาการโรค ผลเน่าจะมีการพัฒนาการไปอย่างช้า ๆ และอาการรุนแรงน้อยกว่าการเก็บรักษา ในสภาพอุณหภูมิห้อง
การแพร่ระบาด เชื้อราแพร่ระบาดไปกับลมและพายุฝน เข้าทำลายผลลิ้นจี่แบบแฝงตั้งแต่ในแปลงปลูก แต่ จะปรากฏอาการให้เห็นภายหลังการเก็บเกี่ยว
การป้องกันกำจัด พ่นป้องกันด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชแมนโคเซบ โปรคลอราซ คาร์เบนดาซิม ฯลฯ ชนิดใดชนิดหนึ่ง และหยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อย 14 วัน
แมลงและการป้องกันกำจัด
- หนอนเจาะขั้วผล (Fruit borer)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Conopomorpha sinensis
หนอนเจาะขั้วผลลิ้นจี่ จัดเป็นแมลงศัตรูอันดับหนึ่ง ที่ทำความเสียหายให้แก่ผลผลิตของลิ้นจี่และลำไย หนอนเจาะทำลายผลอ่อน เจาะขั้นผลแก่ ทำให้ผลร่วง หนอนโตเต็มที่ลำตัวยาว 8-10 มม. ก่อนเข้าดักแด้จะสร้างรังดักแด้ห่อหุ้มตัวเอง และเข้าดักแด้ที่ใบแก่ ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กลายปีกซิกแซกสีน้ำตาลปนเทา ปลายปีกสีเทาเงินสลับดำ มีจุดดำบนพื้นสีเหลืองทอง มีเกล็ดสีเงินคาด 3 เส้น เมื่อกางปีกคู่หน้ากว้าง 10-13 มม. หัวส่วนหน้าสีขาว หนวดยาวกว่าลำตัว ชอบหลบแสงอยู่ใต้ใบที่หนาทึบ ระบาดเดือนมีนาคม - สิงหาคม มีศัตรูธรรมชาติ เป็นแตนเบียนหนอนและดักแด้หลายชนิด คือ Phanerotoma sp., Pholestesor sp Colastes sp., Goryphus sp., Paraphylax sp.
การป้องกันกำจัด
1. สำรวจสวนสัปดาห์ละครั้งหลังติดผล ตรวจนับไม่บนผล 10 ผล/ต้น (ใช้แว่นขยาย) ผ่าดูหนอนในผลร่วง และรังดักแด้บนใบ ถ้าพบไข่ หนอน ดักแด้ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง พ่นด้วย สารคาร์บาริล 85%ดับลิวพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซฟลูทริน 10% อี ซี อัตรา 20-30 มิลลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรทุกสัปดาห์ หรือเมื่อมีการระบาด งดพ่นสารฆ่าแมลงอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเก็บเกี่ยว
2. ห่อช่อผลด้วยถุงผ้าขาวบาง หรือ ถุงตาข่ายไนล่อน
3. เพื่อช่วยอนุรักษ์แมลงศัตรูธรรมชาติ พ่นสารฆ่าแมลงเมื่อจำเป็นหรือมีการระบาดเท่านั้น
- หนอนชอนใบ (Leafminer)
ชื่อวิทยาศาสตร์Conopmorpha litchiella
หนอนชอนใบลิ้นจี่ หรือหนอนเจาะเส้นกลางใบ รูปร่างลักษณะของ ไข่ หนอน รังดักแด้ ดักแด้ และผีเสื้อ คล้ายกับหนอนเจาะขั้นผลมาก ระยะหนอนเจาะเข้าทำลาย ยอดอ่อน ใบอ่อน ใบเพสลาดเจาะเส้นกลางใบ ส่วนที่ถูกทำลายจะแห้งตาย ระบาดในช่วงฤดูฝน ซึ่งตรงกับช่วงการแตกยอดอ่อนของลิ้นจี่ มีแมลงศัตรูธรรมชาติ เป็นแตนเบียนหนอนและดักแด้หลายชนิด ได้แก่ Phanerotoma sp. Colastes sp. Pholestesor sp. Chelonus sp. Paraphylax sp. และ Goryphus sp. มีประสิทธิภาพทำลายหนอนชอนใบลิ้นจี่ 60% สามารถควบคุมการระบาดได้ดีในระดับหนึ่งโดยไม่ต้องใช้สารฆ่าแมลง
การป้องกันกำจัด
1. ต้นที่ให้ผลผลิต ระยะแตกใบอ่อน สำรวจยอดอ่อน หรือใบอ่อน ถ้าพบการทำลายยอดอ่อนแห้งหรือใบถูกทำลายเกิน 25% พ่นด้วย อิมิดาโคลพริด อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
2. ไม่ควรพ่นสารฆ่าแมลงเมื่อสุ่มพบหนอนและดักแด้ถูกแตนเบียนทำลายมากกว่า 30%
- หนอนเจาะกิ่ง (Twig borer)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Zeuzera coffeae
หนอนเจาะกิ่งหรือหนอนเจาะลำต้น ทำลายพืชเศรษฐกิจอื่นๆ อีกหลายชนิด ตัวหนอนเจาะเข้าทำลายกิ่งทำให้และหัก และเจาะส่วนของลำต้นด้วย หนอนมักหลบซ่อนตัวอยู่ภายในกิ่งหรือลำต้น หนอนวัยสุดท้ายมีลำตัวสีแดงเข้มลำตัวยาว 4-7 เซนติเมตร ระบาดช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ระยะหนอนนาน 5-7 เดือน เข้าดักแด้ในกิ่งหรือลำต้น ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน มีขนสีครีมขึ้นปกคลุมตามลำตัวและปีก มีจุดสีดำกระจายบนปีกคู่หน้า และขอบปีกคู่หลัง เพศเมียโตกว่าเพศผู้ ผีเสื้อเพศเมีย 1 ตัววางไข่ได้สูงสุดเกือบ 1,000 ฟอง อัตราการมีชีวิตอยู่รอดต่ำ มีศัตรูธรรมชาติเป็นแตนเบียนหนอน 2 ชนิด และเชื้อรา
การป้องกันกำจัด
1. หมั่นทำความสะอาดสวน ตัดแต่งกิ่งหลังการเก็บเกี่ยวผล
2. เก็บและเผาทำลายกิ่งแห้ง หรือกิ่งที่มีหนอนเจาะอยู่ภายใน
3. ใช้ไส้เดือนฝอย Steinerema carpocapsae อัตรา 2 ล้าน ตัวต่อน้ำ 1 ลิตร ฉีดเข้ารูหนอนเจาะตามกิ่งและลำต้น และพ่นตามขุยทางเดินของหนอน ควรใช้ในเวลาเย็นและมีความชื้นสูง
4. ใช้สารฆ่าแมลงคลอไพริฟอสเข้มข้น ฉีดเข้ารูหนอนเจาะ 1-2 ซีซี. หรือพ่นทางเดินหนอนอัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
5. เก็บหนอนที่ถูกแตนเบียนทำลายมาเลี้ยง หลังจากเป็นตัวเต็มวัย จึงนำไปปล่อยในสวน เพื่ออนุรักษ์แมลงศัตรูธรรมชาติ
- มวนลำไย (Longan stink bug)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tessaratoma papillosa
มวนลำไย วางไข่เป็นกลุ่ม หรือเรียงเป็นแถว จำนวน 14 ฟอง บนใบอ่อน ช่อดอก และผลอ่อนตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ดูดน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน ช่อดอก และผล ทำให้พืชได้รับความเสียหาย ตัวเต็มวัยชอบหลบซ่อน ตามใบหนาทึบ หรือวัชพืชใต้ต้น เพื่ออยู่ข้ามฤดู ระบาดช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม มีแมลงศัตรูธรรมชาติ เป็นแตนเบียนไข่ 2 ชนิด คือ Anastatus sp. Nr. Japonicus และ Ooencyrtus phongi ควบคุมการระบาดได้ดี
การป้องกันกำจัด
1. ตัดแต่งกิ่งให้โปร่งหลังจากการเก็บเกี่ยวป้องกันการ หลบซ่อนเพื่ออยู่ข้ามฤดู
2. เก็บทำลายไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย
3. ไม่ควรพ่นสารฆ่าแมลง เมื่อพบกลุ่มไข่ถูกแตนเบียนทำลายมากกว่า 30%
4. เมื่อมีการระบาด พ่นด้วยเซฟวิน 85% ดับลิวพีอัตรา 45 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
- เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง (Soft scales and mealy bugs)
ชื่อวิทยาศาสตร์
เป็นแมลงที่ติดไปกับชิ้นส่วนของพืชและผลผลิต มีปัญหาในการส่งออก จัดอยู่ในกลุ่มกักกันศัตรูพืชหรือต้องห้าม (quarantine pests) แมลงเหล่านี้ดูดกินน้ำเลี้ยงจาก กิ่ง ใบ ผล ขับของเสียที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล ทำให้เกิดเชื้อราดำปนเปื้อนบนผลผลิต และมีคุณภาพต่ำ บริเวณที่มีเพลี้ยหอยเกราะอ่อน และเพลี้ยแป้ง มักจะพบมดมากินมูลน้ำหวานที่ขับออกมา และช่วยเป็นตัวพาในการเคลื่อนย้าย หรือ แพร่กระจายไปยังต้นอื่น ๆ การตัดแต่งกิ่ง ให้แดดส่องถึงภายในทรงพุ่ม สามารถลดการระบาดของเพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง ร่วมกับการกำจัดมด
การป้องกันกำจัด
1. ตัดกิ่ง ใบ หรือ ช่อผล ที่มีเพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง เผาทิ้ง
2. กำจัดมด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
3. พ่นสารปิโตรเลียมออยล์ 83.9% อีซี อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อระบาด
- ไรกำมะหยี่ (Rust mite)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aceria litchii
ไรกำมะหยี่ลิ้นจี่ เป็นไรสี่ขา ตัวอ่อน และตัววัย มีขนาดเล็กมาก ลักษณะคล้ายตัวหนอน สีขาวหรือสีชมพูเรื่อ ๆ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจาก ยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก และช่อผล ส่วนของพืชที่ถูกทำลายจะปรากฎขนคล้ายกำมะหยี่สีแดงสนิมเหล็ก ยอดหงิกงอ หรือใบ บิดเบี้ยว ช่อดอกติดแน่น หยุดการพัฒนาต่อ ดอก และผลร่วง เมื่อมีการระบาดรุนแรง พบใบและยอดอ่อนถูกทำลายตลอดปี
การป้องกันกำจัด
1. ตัดส่วนของพืชที่ถูกทำลาย เผาทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
2. ช่วงแตกใบอ่อน หรือมีการระบาด พ่นด้วย สารอะมีทราซ 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ กำมะถันผง 85% ดับลิวพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
การเก็บเกี่ยวผลผลิต ลิ้นจี่จัดเป็นไม้ผลประเภท non-climacteric หลังการเก็บเกี่ยวแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพผลผลิต ในทางที่ดีขึ้น และ เอธิลีนไม่มีผลต่อการสุกหรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า เป็นผลไม้ที่ไม่สามารถบ่มให้สุกได้ ดังนั้นการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่จึงควรเก็บเกี่ยวในระยะผลแก่พอดีเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยทั่วไปเกษตรกรจะใช้การเปลี่ยนสีของเปลือกเป็นเกณฑ์สำคัญในการตัดสินใจว่าจะเก็บเกี่ยวผลลิ้นจี่ ได้หรือไม่ โดยจะสังเกตจากเปลือกของลิ้นจี่เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเขียวอมชมพู สีชมพูหรือสีแดง เกณฑ์ การเปลี่ยนสีดังกล่าวจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ สภาพแวดล้อม และการดูแลรักษา อีกลักษณะที่ใช้ ประกอบในการตัดสินใจ คือการดูหนามของผล โดยมีเกณฑ์ว่าลิ้นจี่ที่มีผลแก่ หนามบนผิวเปลือกจะห่างออก จากกัน ลักษณะที่เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความสุกแก่ของลิ้นจี่เหล่านี้ เกษตรกรที่ใช้จะต้องเป็นผู้ชำนาญการพอสม ควรไม่อย่างนั้นอาจจะตัดสินใจคลาดเคลื่อนไปได้
วิธีการเก็บเกี่ยวทำโดยใช้พะองพาดบนต้น แล้วหักกิ่งเพื่อให้ได้ผลผลิตทั้งพวงและมีใบติดมาบ้างเล็กน้อย ลิ้นจี่ที่เก็บเกี่ยวแล้วจะนำมาตกแต่งช่อ คัดเกรดและบรรจุ ซึ่งอาจจะทำอยู่ภายใต้ร่มไม้ส่วนใดส่วนหนึ่ง ของสวนก็ได้
วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
- การลดอุณหภูมิผลจะช่วยลดการคายน้ำของผล ทำให้ผลลิ้นจี่มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น มีการรายงานว่าถ้าลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็วให้อยู่ที่ 3 องศาเซลเซียสแล้วเก็บรักษาไว้ที่ 5 องศาเซลเซียส จะทำให้ผลลิ้นจี่มีการสูญเสียน้ำน้อยและถูกโรคเข้าทำลายได้ยากขึ้น วิธีการลดอุณหภูมิของผลอย่างรวดเร็ว อาจจะทำได้โดยการใช้ลมเย็นผ่านผลอย่างรวดเร็ว (Force-air Cooling) แต่วิธีนี้มักทำให้ผลสูญเสียน้ำหนักไปบ้าง เนื่องจากความชื้นสัมพัทธ์ใน อากาศจะค่อนข้างต่ำ ทำให้มีการคายน้ำจากผลเข้าสู่บรรยากาศ อีกวิธีที่แนะนำคือ การจุ่มผลลิ้นจี่ในน้ำเย็นหรือน้ำที่ผสมน้ำแข็ง (Hydro Cooling) จะช่วยลดอุณหภูมิผลได้อย่างรวดเร็วและผลไม่สูญเสียน้ำหนักในระหว่างการลดอุณหภูมิผล แต่ต้องระวังรอให้ผลแห้งก่อนการบรรจุ มิฉะนั้นจะมีปัญหาเรื่องเชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย
- การเก็บรักษา การสูญเสียคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของลิ้นจี่เกิดขึ้นเร็วมาก โดยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสีผิวของเปลือก ซึ่งจะเปลี่ยนจากสีแดง เป็นสีน้ำตาล ซึ่งเป็นผลมาจากการสูญเสียน้ำของเปลือก และการเปลี่ยนแปลงของ สารประกอบพวกฟีนอลภายในเปลือก มีรายงานว่าเปลือกของลิ้นจี่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้งภายใน2-3 วัน หากเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง ที่แนะนำให้เก็บรักษาลิ้นจี่อยู่ระหว่าง 0-5 องศาเซลเซียส ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการเก็บรักษา ถ้าต้องการเก็บรักษาเป็นระยะเวลานาน เช่น 3 สัปดาห์ ควรเก็บไว้อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส ทั้งนี้โดยที่ระดับความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 มีรายงานว่าการรมควันด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ นาน 25 นาที แล้วนำไปแช่ในสารละลายกรดไฮโดรคลอริก ความเข้มข้น 1.0n นาน 15 นาที ก่อนที่จะนำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส จะสามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาลิ้นจี่ไว้ได้นานถึง 7 สัปดาห์ โดยไม่มีการเปลี่ยนสีผิวของเปลือกลิ้นจี่
- การป้องกันการเกิดสีน้ำตาล บนเปลือกลิ้นจี่โดยการเคลือบไข ไม่สามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาลิ้นจี่ได้ เนื่องจากผิวเปลือกลิ้นจี่ขรุขระ ไม่ราบเรียบทำให้ไม่สามารถเคลือบผลได้สม่ำเสมอและต่อเนื่อง จึงไม่สามารถช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำของผล ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผิวเปลือกลิ้นจี่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและหมดอายุการใช้งาน
- การแปรรูปลิ้นจี่ ลิ้นจี่นอกจากจะใช้รับประทานสดได้แล้ว ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อีก ทั้งนี้ได้มีการแนะนำ จากแหล่งความรู้หลายแหล่งว่าลิ้นจี่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลายชนิด เช่น ลิ้นจี่กระป๋องหรือบรรจุ ขวดในน้ำเชื่อม เนื้อลิ้นจี่อบแห้ง น้ำลิ้นจี่ที่ได้รับความนิยมมากพอสมควร นอกจากนี้ยังสามารถแปรรูป เป็น ผลิตภัณฑ์อีกหลายชนิดทั้งนี้ผลิตภัณฑ์และวิธีการแปรรูปที่แนะนำในที่นี้จะเป็นผลิตภัณฑ์และเทคนิคอย่างง่ายที่ สามารถทำได้ในครัวเรือน เพื่อเป็นแนวทางริเริ่มอุตสาหกรรมขนาดเล็กในครัวเรือนหรือชุมชนได้ วัสดุที่ใช้ทำอุปกรณ์ในการแปรรูปอาจส่งผลต่อคุณภาพด้านสีของผลิตภัณฑ์ได้ ดังนั้นผู้แปรรูปความเลือกใช้ อุปกรณ์งานครัวที่ทำจากเหล็กปลอดสนิม (stainless steel) หรือที่เรียกทั่วไปว่าเครื่องครัวสเตนเลส โดยเฉพาะ อย่างยิ่งส่วนที่จะต้องสัมผัสกับอาหาร เช่น หม้อ ทัพพี เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว การแปรรูปผลิตภัณฑ์หลายชนิดจะมีการระเหยน้ำร่วมด้วย และมักมีการแนะนำให้ใช้ตู้อบลมร้อน ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ แต่ถ้าทำในปริมาณน้อยและไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าว ก็อาจใช้วิธีการตากแดดแทนได้ หรืออาจใช้ตู้ตากแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ก็ได้ ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะพบว่าในบางผลิตภัณฑ์มีการแนะนำให้ใช้สารเคมีต่างๆ ร่วมด้วย เช่น แคลเซียมคลอไรด์ กรดซิตริก กรดแอสคอร์บิก โพแทสเซียมเมตาไบซัลไฟต์ ฯลฯ สารเคมีเหล่านี้สามารถซื้อหา ได้จากร้านขายสารเคมีทั่วไป และสิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ สารเคมีเหล่านี้จะต้องไม่มีสารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ปนเปื้อนอยู่ และจะต้องไม่ใช้มากเกินกว่าที่แนะนำ มิเช่นนั้นแล้วอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ตลอดจนอาจทำให้ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ
- การปรุงรสของผลิตภัณฑ์จำพวกกวนนั้น ในที่นี้การปรุงรสจะใช้น้ำตาลและ กรดซิตริกหรือกรดมะนาวเป็นส่วนใหญ่ และบางตำรับอาจมีการปรุงรสด้วยเกลือ ชะเอม กะทิ แต่แท้จริงแล้วการปรุงแต่งรสชาติของผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะขึ้น กับรสชาติที่ผู้บริโภคชอบเป็นสำคัญ
ดังนั้นในการแปรรูปท่านอาจจะทดลองทำการปรุงรสโดยใช้ส่วนผสมที่ให้รสชาติอื่นร่วมหรือแทนได้ ซึ่งอาจทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามแล้ว โดยทั่วไปวิธีการแปรูปผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดจะเป็นดังนี้ คือ ลิ้นจี่บรรจุกระป๋องหรือบรรจุขวดในน้ำเชื่อม ลิ้นจี่อบแห้ง น้ำลิ้นจี่พร้อมดื่ม ฯลฯ ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถทำได้ไม่ยากนัก โครงสร้างของตู้อาจทำจากไม้ ไม้ไผ่หรือเหล็กก็ได้ ขนาดของตู้ที่พอเหมาะต่อการตากอาหารสำหรับบริโภคในครัวเรือน จะมีขนาดกว้างประมาณ 24 นิ้ว ยาว 36 นิ้ว ด้านหน้าตู้สูง 8 นิ้ว ด้านหลังตู้สูง 10 นิ้ว และควรจะมีขาตู้ด้านหน้าสูงประมาณ 8 นิ้ว และขาด้านหลังของตู้สูงประมาณ 9 นิ้ว ทั้งนี้เพื่อให้ตู้นี้มีความเอียงประมาณ 14 องศา ซึ่งจะช่วยให้รับแสงอาทิตย์ได้เต็มที่ ผนังตู้กรุด้วยลวดตาข่ายสีดำ เพื่อให้สามารถระบายอากาศ และดูดพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ดียิ่งขึ้น ผนังด้านหลังทำเป็นลักษณะบานประตูเพื่อให้ปิดเปิดได้ ภายในตู้มีตะแกรง 2 ชั้นสำหรับวางอาหารที่จะตาก และตะแกรงนี้สามารถถอดเข้าออกได้ แต่ถ้าท่านต้องการได้ตู้อบแสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่านี้ ก็สามารถปรึกษากับหน่วยงานที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง นี้โดยตรง เช่น ที่ภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น
ข้อมูลจาก
- http://th.wikipedia.org
- http://it.doa.go.th/vichakan/news.php?newsid=38
- http://www.pharmacy.cmu.ac.th/web2553/n56.php
น้ําผลไม้ที่แนะนำ
- พันช์ลิ้นจี่
-
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น