วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

น้ำปานะ

ข้อควรรู้สำหรับผู้ถืออุโบสถศีล และผู้ต้องการถวายน้ำปานะแด่พระสงฆ์สามเณร ให้ถูกต้องตามหลักศาสนาพุทธ

          อุโบสถศีลประกอบด้วย 8  องค์  หมายถึงศีล 8 หรือศีลอุโบสถนั่นเอง  อุโบสถศีล เป็นศีลของคฤหัสถ์ (อุบาสกอุบาสิกา หรือผู้ปวรณาตนเป็นผู้นับถือพระพุทธสาศนา) มิใช่สงฆ์ ซึ่งมีศีลเฉพาะตนอยู่แล้ว โดยชาวพุทธมักจะรับศีลแปดในวันพระ นิยมรักษาศีลแปดเป็นเวลา 1 วัน หรือ 3 วัน จัดเป็นศีลขั้นต่ำของพระอนาคามี โดยปกติแล้วผู้รักษาศีลจะเปล่งวาจาอธิษฐาน ที่จะขอสมาทานศีลในตอนเช้าของวันนั้น หากรักษาศีลแปดเป็นเวลา 1 วัน เรียกว่า "ปกติอุโบสถ" และหากรักษา 3 วัน เรียกว่า "ปฏิชาครอุโบสถ"

          อุโบสถศีล ศีลอุโบสถ หรือศีล 8 มีข้อปฏิบัติ ดังนี้
             1. ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการฆ่าสัตว์
             2. อทินฺนา ทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการลักสิ่งของที่ผู้อื่นมิได้ให้
             3. อพฺรหฺมจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์
                (ผู้ชายกับผู้หญิงอยู่ใกล้กันไม่ได้ แต่ศีล 5 อยู่ใกล้กันได้)
             4. มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
             5. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการดื่มสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
             6. วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล
                 (หลังเที่ยงถึงวันใหม่)
             7. นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี และประดับร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องประดับ เครื่องทา เครื่องย้อม
             8. อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการนั่งนอนเหนือเตียงตั่ง ที่เท้าสูงเกิน ภายในมีนุ่นหรือสำลี
ในอุโบสถศีล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสอรรถาธิบายถึง อุโบสถศีลข้อที่ 6  ไว้ว่า

" .......แม้นเราในวันนี้ก็บริโภคอาหารครั้งเดียว  งดอาหารในราตรี เว้นจากการบริโภคผิดเวลาตลอดวันและคืนนี้  ด้วยองค์นี้  เราก็ได้ชื่อว่าปฏิบัติตามพระอรหันต์ทั้งหลายอย่างหนึ่ง และอุโบสถก็จักเป็นอันเรารักษาแล้ว "   (องฺ ติก. ข้อ  510) 

           บทว่า วิกาลโภชนํ  ได้แก่ การบริโภคอาหาร เมื่อล่วงเลยเวลาเที่ยงตรง,  การบริโภคอาหารเมื่อล่วงเลยเวลาเที่ยง ก็คือ การบริโภคอาหารเมื่อล่วงเลยกาลที่ทรงอนุญาตไว้  คือ เจตนางดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล
           บทว่า เอกภตฺติกา (บริโภคภัตครั้งเดียว) นั้น ท่านแบ่งการบริโภคอาหารเป็น 2 เวลา คือ เวลาเช้า กับเวลาเย็น อาหารที่จะรับประทานในเวลาเช้า ท่านกำหนดตั้งแต่อรุณจนถึงเที่ยงวัน  ส่วนอาหารเย็นกำหนดตั้งแต่เลยเที่ยงไปจนถึงเวลาอรุณขึ้น เพราะฉะนั้น ในเวลาภายในเที่ยงวัน แม้นจะบริโภคอาหาร 5-10  ครั้ง ก็ชื่อว่ามีการรับประทานเพียงครั้งเดียว เวลาเดียว

          วิกาลโภชน์มีองค์แห่งการเกิด 4 ประการ  (องค์ที่ทำให้เกิดองค์อุโบสถที่  6 ต้องแตกทำลาย)
             1. วิกาโล  เป็นเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงวันไปแล้ว
             2. ยาวกาลิกํ   ของนั้นเป็นของเคี้ยวของฉันที่ทรงอนุญาตให้กินได้ก่อนเที่ยงวัน
             3. อชฺโฌหรณํ มีการกลืนล่วงลำคอคงไป
             4. อนุมฺมตฺตกตา  ไม่ใช่คนบ้า

(ขุทฺทก.อ 1/3/42, อง.อ. 1/3/401)
          "หลังจากเที่ยงวันไปแล้ว  นอกจากน้ำเปล่าบริสุทธิ์แล้ว ผู้รักษาอุโบสถสามารถกลืนน้ำปานะดับกระหายหรือบรรเทาความหิวได้  โดยไม่ทำให้องค์อุโบสถศีลข้อที่  6 แตกทำลาย"

         คำว่า “ปานะ” แปลว่า เครื่องดื่ม หรือน้ำสำหรับดื่มที่คั้นจากผลไม้ ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ 8 ชนิด หรือที่เรียกว่า น้ำอัฏฐบาน หากเทียบเคียงกับปัจจุบันก็น่าจะหมายถึง บรรดาน้ำผลไม้ทั่วไปนั่นเอง  วิธีทำน้ำปานะ ที่ท่านแนะไว้ คือ ปอกหรือคว้านผลไม้เหล่านี้ที่สุก เอาผ้าขาวบางห่อแล้วบิดให้ตึง อัดเนื้อผลไม้ให้คายน้ำออกจากผ้า อย่าให้มีกาก จากนั้นเติมน้ำลงไปให้พอดี แล้วผสมกับน้ำตาลและเกลือเป็นต้นเพื่อให้ได้รสที่ดีขึ้น แต่ ปานะ ดังกล่าวก็มีข้อจำกัดที่จะพึงทราบคือ ปานะนี้ให้สุกด้วยแสงแดดเท่านั้น ห้ามให้สุกด้วยไฟ และน้ำปานะจัดเป็นยามกาลิก เมื่อพระภิกษุรับประเคนแล้วสามารถเก็บไว้ฉันได้ตลอด 1 วัน กับ 1 คืนเท่านั้น เมื่อขึ้นอรุณของวันใหม่แล้วเป็นอันฉันไม่ได้ น้ำปานะ ได้แก่ เครื่องดื่ม หรือน้ำสำหรับดื่มที่คั้นจากผลไม้ ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาติไว้  8  อย่าง ได้แก่
             1.  อัมพะปานะ  น้ำมะม่วง
             2. ชัมพุปานะ   น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า
             3. โจจะปานะ  น้ำกล้วยมีเมล็ด
             4. โมจะปานะ  น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด
             5. มะธุกะปานะ น้ำมะทรางต้องเจือด้วยน้ำจึงควร
             6. มุททิกะปานะ น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น
             7. สาลุกะปานะ  น้ำเหง้าบัว
             8. ผารุสะกะปานะ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่
          นอกจากน้ำปานะทั้ง  8 อย่างแล้ว ท่านยังอนุญาตน้ำที่จะอนุโลมตามน้ำปานะไว้อีก เรียกว่า กัปปิยปานะอนุโลม คือน้ำปานะที่สมควร  ซึ่งฉัน(ดื่ม) ได้โดยไม่เป็นอาบัติในเวลาวิกาล ได้แก่ น้ำปานะแห่งผลไม้เล็ก  เช่น ลูกหวาย มะขาม  มะงั่ว มะขวิด สะคร้อ และเล็บเหยี่ยว เป็นต้น นอกจากนี้ยังอนุญาติให้ฉันน้ำปานะเหล่านั้นผสมกับน้ำตาล แล้วเคี่ยวไฟจนเข้มข้น (ยกเว้นที่ทำจากถั่วและนม) สามารถฉันได้ จัดเป็น อัพโพหาริก เช่น น้ำอัดลมในสมัยนี้  แม้นน้ำผลไม้สำเร็จรูป เช่น น้ำองุ่นที่กรองเนื้อออกดีแล้ว
ก็ดื่มได้
          ส่วนน้ำที่ไม่ทรงอนุญาต  ดื่มแล้วองค์อุโบสถต้องแตกทำลาย คือ อกัปปิยปานะอนุโลม   หรือ เครื่องดื่มที่ไม่พึงดื่ม  คือ น้ำปานะที่ไม่สมควร ภิกษุดื่มในเวลาวิกาลไม่ได้ ถ้าดื่ม ต้องอาบัติปาจิตตย์ ได้แก่
                1. น้ำแห่งธัญชาติ (ข้าว)  ๗ ชนิด คือ ข้าวสาลี  ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง
ลูกเดือย และหญ้ากับแก้
                2. น้ำแห่งมหาผล  (ผลไม้ใหญ่ ) ๙ ชนิด  คือ ผลตาล  มะพร้าว  ขนุน สาเก  น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไท  แตงโม และฟักทอง
                3. น้ำแห่งอปรัณณชาติ  ได้แก่ ถั่วชนิดต่าง ๆ  มีถั่วเหลือ  ถั่วเขียว  ถั่วดำ และงา เป็นต้น แม้นจะต้มจะกรอง ทำเป็นเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ก็ย่อมเป็นอาบัติปาจิตตีย์
           ดังนั้น ผู้หวังความบริสุทธิ์ของอุโบสถมีองค์ ๘ พึงงดเว้นเครื่องดื่มที่ทรงห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายในยามวิกาล
           อย่างไรก็ดี ยังมีสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ ก็เห็นจะเป็นเรื่องราวของ “น้ำนม” เนื่องจากมีสิกขาบทหนึ่ง ระบุว่า น้ำนมเป็นโภชนะอันประณีต ไม่ควรดื่มในเวลาวิกาล แต่ในเรื่องนี้ก็ยังมีข้อความจากพระไตรปิฎกที่ขัดแย้งกันอยู่ ๒ แห่งด้วยกัน กล่าวคือ
              1. ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ ขุททกนิกาย มหานิเทส ได้ระบุว่า “ปโยปานํ” หรือน้ำนม จัดเป็นน้ำปานะ
              2.ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องเสขิยกัณฑ์ ได้กล่าวถึง พราหมณ์คนหนึ่งปรุงน้ำนมถวายสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายได้รับน้ำนมมาแล้วก็ดื่มน้ำนมทำเสียงดังซู้ด ๆ จึงเป็นที่มาของสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงห้ามพระภิกษุไม่ให้ฉันทำเสียงดังซู้ด ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจทำให้เกิดการสับสนขึ้นได้ว่า “น้ำนม” หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำนมควรหรือไม่ควรกันแน่

          ส่วนในปัจจุบัน วัดหรือสำนักปฏิบัติธรรมบางแห่งก็อนุญาตให้ดื่มน้ำนมได้ ส่วนบางแห่งก็ไม่อนุญาตให้ดื่ม ในเรื่องนี้ แม้แต่ในพระไตรปิฎกก็ยังมีข้อความที่ก่อให้เกิดความสับสนทางความคิด เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงขอทำการแบ่งประเภทของน้ำปานะออกเป็น ๓ ระดับขั้น โดยพิจารณาจากเครื่องดื่มที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นเกณฑ์การตัดสิน ดังนี้
                ๑. ขั้นหยาบ ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีเนื้อปน เช่น น้ำเฉาก๊วย เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ น้ำผลไม้ที่มีเนื้อปน แม้แต่น้ำนมถั่วเหลืองก็ดื่มไม่ได้
                ๒. ขั้นกลาง ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีเนื้อปน เช่น น้ำผลไม้แท้ ๑๐๐% ชนิดที่ไม่มีเนื้อปน น้ำหวาน น้ำอัดลม กาแฟผสมครีมเทียม และน้ำนม เนื่องจากน้ำนมก็ได้รับการอนุญาตไว้ตามพระไตรปิฎกข้างต้น ท่านใดเห็นว่าควรดื่ม ก็ไม่ควรไปตำหนิเขา ส่วนท่านใดเห็นว่าไม่ควรดื่ม ก็งดเว้นเสีย
                ๓. ขั้นละเอียด ได้แก่ น้ำปานะที่ทรงอนุญาตไว้ ๘ อย่าง น้ำผลไม้แท้ ๑๐๐% กาแฟชนิดที่ไม่มีครีมเทียมอันเป็นส่วนผสมของน้ำนม

          เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ทั้ง ๓ ข้างต้น ก็คงพอจะกำหนดได้ถึงความเหมาะสมของเครื่องดื่มแต่ละประเภท แต่หากพิจารณาถึงคุณค่าที่แท้จริงของการดื่มน้ำปานะแล้ว จะพบว่า การดื่มน้ำปานะก็เพื่อบรรเทาความหิวกระหาย และการดับธาตุไฟที่เผาผลาญอาหารอยู่ภายในร่างกาย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติมีกำลังในการเจริญสมณธรรม ไม่ถูกความหิวบีบคั้นจนกระสับกระส่ายเกินไปในการปฏิบัติธรรม
          นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้ถวายที่เป็นทายก ทายิกา มีความต้องการที่ช่วยเหลือส่งเสริมเหล่านักปฏิบัติ เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปในช่วงขณะหนึ่งเท่านั้น หาใช่ต้องการให้ดื่มจนอิ่มหนำอันเป็นที่มาแห่งความกำหนัดไม่
          สำหรับฆราวาสผู้มุ่งหวังบุญกุศลในการใส่บาตรถวายเครื่องดื่มในปัจจุบัน ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของเครื่องดื่มดังกล่าวโดยใช้เกณฑ์การตัดสินข้างต้นเป็นหลักสำคัญ กล่าวคือ เครื่องดื่มที่จัดอยู่ในขั้นหยาบไม่ควรถวายเลยจะดีที่สุด แต่ควรถวายเฉพาะเครื่องดื่มที่จัดอยู่ในขั้นกลางและขั้นละเอียดเท่านั้น เมื่อถวายแล้วก็ควรทำใจให้เป็นกุศลในบุญที่ได้ทำไว้ ส่วนนักปฏิบัติก็ควรดื่มพร้อมทั้งพิจารณาถึงคุณค่าและเจตนาที่แท้จริงของผู้ถวายด้วย
          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องดื่มในปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงไปมากจากครั้งอดีตกาล หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า เครื่องดื่มเกือบทุกประเภทจะต้องผ่านการพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurization) ซึ่งเป็นกระบวนการถนอมอาหารโดยใช้ความร้อนในอุณหภูมิที่สูง เพื่อยืดอายุการเก็บอาหาร และทำให้อาหารปลอดภัยควรแก่การบริโภค
          เมื่อเป็นเช่นนี้ เครื่องดื่มเหล่านั้นก็ชื่อว่าได้รับการหุงด้วยไฟ ไม่ใช่เป็นของที่ให้สุกด้วยแสงแดดตามพระบัญญัติ ครั้นจะบอกว่า เครื่องดื่มเหล่านั้นไม่ควรดื่ม เนื่องจากได้รับการหุงด้วยไฟ แต่ก็เป็นกรรมวิธีที่มีความปลอดภัยสูงและเหมาะสมแก่การบริโภคด้วย จึงเป็นการตัดสินที่ยากเป็นอย่างยิ่ง
          ดังนั้น เมื่อจะเลือกเครื่องดื่มใด ก็ควรพิจารณาตามความเหมาะสมของยุคสมัยด้วย แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดการติเตียนขึ้นในภายหลัง จึงจะถือได้ว่า เครื่องดื่มนั้นมีความเหมาะสมและควรค่าแก่ความเป็นน้ำปานะ

          ส่วนตัวแอดมินเองมองว่าที่ท่านให้ฉัน (รับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำ) ให้หมดภายใน 1 วัน น่าจะมาจากการที่พระพุทธเจ้าท่านไม่ต้องการให้พระภิษุเก็บสะสมอาหาร หรือสิ่งของต่างๆ เกินความจำเป็นจนทำให้เกิดความยึดติดในทรัพย์สิน ซึ่งก็จะทำให้ขัดกับแนวทางของพระพุทธศาสนาที่แสวงหาความหลุดพ้น พระพุทธเจ้าจึงให้ฉัน (รับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำ) เป็นเพียงช่วงเวลาเดียว เพื่อที่จะให้เราไม่ยึดติดกับสิ่งใด และมีสติรู้ตัวตลอดเวลาว่าเรากำลังทำสิ่งใดอยู่ ไม่หลงเพลิดเพลินไปกับรสชาติ หรือความรู้สึกอิ่ม จนพลั้งเผลอสติตกอยู่ในความคิดอันเป็นอกุศลได้
          อ้อแล้วยังมีอีกเรื่อคือ ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีประเพณีการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งซึ่งจริงๆ แล้ว ก็ไม่ใช้วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องนัก เพราะจริงๆ แล้ว การตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งนั้นเกิดจากการที่คนไทยในสมัยก่อนไม่นิยมบริจาคอาหาร และสิ่งของให้คนจน แต่กลับชอบที่จะทำบุญใส่บาตกับพระสงฆ์มากกว่า จึงทำให้มีผู้รู้คิดวิธีการนี้ขึ้นมาโดยอาศัยพระท่านเป็นผู้รับบิณฑบาต ให้ชาวบ้านมาใส่บาตร แต่ต้องเป็น อาหารแห้งเพื่อที่จะได้นำไปให้คนยากคนจนต่อไป และคนยากคนจนจะได้นำไปใช้ไปกินได้ต่อไป แต่ถึงอย่านั้นก็ใช้ว่าการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งจะผิดเสียเลยทีเดียวก็ไม่ใช้ แต่กลับเป็นประโยชน์อย่างมากเลยทีเดียวเพราะเมื่อพระท่านได้รับมาแล้วท่านก็จะนำสิ่งของและอาหารเหล่านี้ไปบริจาคให้คนยากคนจนต่อไป ส่วนวัดใดมีผู้ที่มาถือศิล ที่เรามักเรียกว่า แม่ชี พระท่านก็จะนำไปบริจาคให้ แม่ชีเหล่านี้ได้ใช้ประโยชน์ต่อไป และถ้าหากในวัดมีสงฆ์อาพาธ (พระป่วย) แม่ชี ก็จะนำอาหารแห้งที่ได้รับมาเหล่านี้มาประกอบอาหารให้พระท่านที่ป่วยได้ฉัน ในช่วงที่รักษาตัวให้หายป่วยด้วย จึงจะเห็นได้ว่าการให้ของเราในครั้งนี้กลับเป็นบุญที่ใหญ่มากๆ เพราะทำให้ผู้ที่ต้องการอาหารและสิ่งของจริงๆ ได้รับประโยชน์อย่างมาก
          ก่อนจะจบเรื่องนี้่แอดมินก็ข้อกล่าวอะไรส่งท้ายซักหน่อยก็แล้วกัน ว่า "การให้ที่ดีที่สุด คือการที่ผู้ให้ได้ให้และผู้ให้มีความสุข ส่วนผู้รับได้รับ และผู้รับได้ให้ต่อไป ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ อย่างที่ไม่สิ้นสุด เหตุนี้จึงเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่มหาศาล เพราะทุกคนก็จะปรารถนาดีต่อกันไม่มีวันสิ้นสุดไปด้วย"

ข้อมูลจาก
- คัมภีร์อุโบสถศีล อ้างอิงจาก OKnation.net
- วิกิพีเดีย เรื่อง ศีลแปด
- ASTVผู้จัดการออนไลน์ เรื่อง นานาสารธรรม : น้ำแบบไหน คือ “น้ำปานะ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น